วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

UNESCO ยกย่อง พระไทย เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

UNESCO ยกย่อง หลวงปู่มั่น

 -สมเด็จพระมหาสมณเจ้า 

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 

เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

.............................


              ถือเป็นข่าวที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายปลาบปลื้มใจอย่างที่สุด เมื่อในวาระครบรอบบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในวาระปี 2563-2564 "ยูเนสโก" ได้ยกย่อง"พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต" ซึ่งจะครบรอบ 150 ปีชาตกาล (20 ม.ค.63) และ"สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส" ครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ (2 ส.ค. 2464) เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ เช่นเดียวกันกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

                 

            
 "หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต" หรือนามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย

           
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2413 ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นบุตรคนที่ 5 จากพี่น้องรวม 9 คน เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน

           
ต่อมา "หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล" ได้ธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่ บ้านคำบง พระอาจารย์มั่นในขณะเป็นฆราวาส จึงเข้าถวายการรับใช้ และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ ต่อมาได้ถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามเดินทางเข้าเมืออุบลราชธานี

           
เมื่อท่านอายุได้ 23 ปี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเลียบ อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี โดยมี พระอริยกระวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย ญาณสโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับขนานนามเป็นภาษามคธว่า "ภูริทตฺโต แปลว่า ผู้ให้ปัญญา"

            "
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต" ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทา งดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า เป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ... ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่สมณะ ประชาชน อย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น)

             
หลังจากท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทา ธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์มักถูกเรียกขานว่า "พระกรรมฐานสายวัดป่า" หรือ "พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น" ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น "พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า" หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน...







                  
"สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส" เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับมหาสมณุตตมาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระอิสริยยศ 11 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปีพ.ศ. 2464 พระชันษา 61 ปี

             
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2403 ในวันที่พระองค์ประสูตินั้น ฝนตกหนักมากราวกับฟ้ารั่ว เหมือนนาคให้น้ำบริเวณนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ" ต่อมา เจ้าจอมมารดาแพถึงแก่กรรมลงในขณะที่พระองค์มีพระชันษาเพียง 1 ปี พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา จึงทรงรับไปเลี้ยงดู เมื่อทรงเจริญวัยทรงพระดำเนินได้ รับสั่งได้คล่องแคล่ว จึงเสด็จพำนักอยู่กับท้าวทรงกันดาล (ศรี) ซึ่งเป็นยายแท้ ๆ

               
เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนผนวชเป็นสามเณร นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และโหราศาสตร์อีกด้วย ถึงปี พ.ศ. 2416 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมี "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์" เป็นพระอุปัชฌาย์ และ หม่อมเจ้าพระธรรมมุณหิศธาดา (สีขเรศ วุฑฺฒิสฺสโร) ทรงเป็นผู้ประทานศีล 10 หลังจากทรงบรรพชาแล้วได้ประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประมาณ 2 เดือน จึงทรงลาผนวช

               
ครั้นครบปีบวช พระชันษา 20 ปี ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2422 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ 1 พรรษา จึงย้ายไปประทับที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของพระจันทรโคจรคุณผู้เป็นพระอาจารย์

                      พระองค์ได้ทรงปรับปรุงการพระพุทธศาสนา และทางคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ เป็นอันมากโดยเริ่มงานตั้งแต่เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ เกือบทั่วราชอาณาจักร โดยกระทำอย่างต่อเนื่องทุกปี เกือบตลอดพระชนม์ชีพ ทำให้ทรงทราบความเป็นไปของคณะสงฆ์ และของ ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ เป็นอย่างดี และนำข้อมูลและปัญหาต่างๆ มาปรับปรุง แก้ไขในทุกๆด้าน
       

ขอบคุณข่าว...https://mgronline.com/politics/detail/9620000113603

3 ความคิดเห็น:

  1. นับเป็นข่าวในวงการพระพุทธศาสนาไทยที่น่าปลื้มปิติยินดียิ่ง กราบสาธุๆๆเจ้าค่ะ 🌺🙏🙏🙏🌺

    ตอบลบ
  2. กราบแทบเท้ากราบมุทิตาสักการะด้วยความเคารพอย่างสูงสุด สาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  3. ขอกราบถวายมุทิตาสักการะมาด้วยความเคารพอย่างสูง สาธุ

    ตอบลบ

ชนะวิกฤต​ Covid-19 ด้วยการสวดมนต์เป็นไปได้จริงหรือไม่

ชนะวิกฤต​ Covid-19   ด้วยการสวดมนต์เป็นไปได้จริงหรือไม่       ช่วงนี้คงได้ข่าวเกี่ยวกับ รมต.สำนักนายก ได้เสนอให้มหาเถรสมาคม  ถ่ายท...