วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ความเป็นมาของการฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา

ลูกนิมิตคืออะไร ???

             ลูกนิมิต ก็คือ ลูกหินกลมๆที่ใช้ฝังเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ทราบว่าตรงไหนเป็นเขตอุโบสถหรือโบสถ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมนั่นเอง

                 เหตุที่ต้องมี " นิมิต ” เป็นเครื่องหมายบอกว่าตรงไหนเป็นโบสถ์ ก็สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาแล้ว ภายหลังได้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสาวกมากขึ้น พระองค์จึงได้ส่งพระภิกษุเหล่านี้ออกไปเผยแผ่พระศาสนาตามที่ต่างๆ ซึ่งการที่พระภิกษุออกไปอยู่ห่างไกลจากพระพุทธองค์นั้น ก็เท่ากับห่างจากการฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์

               อีกทั้ง พระสงฆ์ที่บวชแล้วก็มิใช่ว่าจะบรรลุพระอรหันต์กันทุกองค์ ดังนั้น อาจจะเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของพระพุทธองค์ที่ต้องการให้มีการทบทวนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อยู่เสมอ รวมทั้งให้สงฆ์ได้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาหรือทำกิจบางประการร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้กำหนดให้ พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ทำสังฆกรรม ในบางเรื่อง เช่น การสวดปาติโมกข์ การบวชพระ การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น โดยกำหนดให้ทำสังฆกรรมในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อมิให้ฆราวาสมายุ่งเกี่ยว

                   ในสมัยแรกๆพระภิกษุยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน แม้ว่าต่อมาจะมีผู้ถวายพื้นที่เป็นวัดให้พระอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นป่าตามธรรมชาติ เช่น วัดเวฬุวัน (ป่าไผ่) ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์ต้องจาริกไปยังที่ต่าง ๆ จึงทรงให้ หมายเอาวัตถุบางอย่างเป็นเครื่องกำหนดเขตแดน ขึ้น เรียกว่า การ ผูกสีมา (คำว่า " สีมา ” แปลว่า " เขตแดน ” ) ซึ่งพระพุทธองค์ได้กำหนดไว้ ๘ ประการ ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และ น้ำนิ่ง และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า " นิมิต ”

                 แต่นิมิตเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรมเวลาผ่านไปมักจะคลาดเคลื่อน จึงมีการกำหนดนิมิตใหม่   คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้างหรือทำขึ้นเฉพาะ เช่น บ่อ คู สระ และก้อนหิน โดยเฉพาะก้อนหินเป็นที่นิยมกันมาก เพราะทนทานและเคลื่อนย้ายได้ยาก ครั้นเมื่อเทคโนโลยี่ มีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงได้มีการประดิษฐ์ก้อนหินให้เป็นลูกกลมๆเป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน และเรียกกันว่า " ลูกนิมิต ” ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน


                 " การฝังลูกนิมิต ” นี้   มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ " ผูกพัทธสีมา ” (ซึ่งก็แปลว่า เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต) โดยปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันในโบสถ์ เพื่อทำพิธี สวดถอน มิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดนี้ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมา หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่ง ๆ ไปตลอดสถานที่ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่ามีอาณาเขตเท่าใด

                 โดยทั่วไป ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมา  ไม่ได้กำหนดไว้ว่ามีจำนวนกี่ลูก  ส่วนใหญ่จะใช้ 9  ลูก เพราะมี 8 ทิศ  ลูกเอกอีก 1 ลูก  บางวัดก็แตกต่างกันไป เช่น  ที่อุโบสถวัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ก   ฝังลูกนิมิต109 ลูก .... บางวัดใช้ลูกนิมิต 273 ลูก  ที่วัดนาโปร่ง  จ. อุตรดิตถ์    หรือ บางวัดใช้ ลูกนิมิตยักษ์  (วัดสว่างอารมณ์ ใหญ่เท่าตึก 2 ชั้น)   วัดดังอยุธยา สร้างลูกนิมิตจำลองใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร  ฯลฯ   ซึ่งแล้วแต่ความเห็นสมควรในแต่ละวัด  

               
                  เมื่อจะผูกสีมาพระสงฆ์จำนวนอย่างน้อย ๔ รูป  จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางไว้ตามทิศต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออกเป็นต้นไป เรียกว่า สวดทักสีมา จนครบทุกทิศและมาจบที่ทิศตะวันออกอีกครั้งเพื่อให้แนวนิมิตบรรจบกัน

                 เมื่อสวดทักนิมิตจบแล้วก็จะกลับเข้าไปประชุมสงฆ์ในอุโบสถ และสวดประกาศสีมาอีกครั้ง 
 

                 หลักในการวางลูกนิมิตตามทิศต่าง ๆ ดังนี้ 

1.  ทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) ลูกที่อยู่ด้านหน้าของอุโบสถ ถือเป็นลูกบริวารที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เป็นลูกแรกที่ต้องเริ่มนับ ยกเว้นลูกกลางสะดือโบสถ์ ดังนั้น จึงเปรียบนิมิตลูกนี้เหมือนปฐมสาวก หรือ พระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัครสาวกผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้รู้ราตรีกาลนาน คือ มีความรู้มาก ผ่านโลกมามาก เนื่องจากท่านเป็นผู้เดียว ที่เมื่อยังเป็นดาบสที่ทำนายพระราชกุมารรคือพระพุทธเจ้าเมื่อมีพระประสูติกาล และทำนายว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระดาบสก็เฝ้ารอการบรรพชาของพระองค์เพื่อจะได้ออกบวชตามพระองค์ และถวายตัวเป็นพระอัครสาว การฝังลูกนิมิตไว้ด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นการบูชาพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นการอัญเชิญและบูชาพระจันทร์ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ส่วนด้านหน้าของอุโบสถ

2. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) หรือด้านหน้าฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตไว้ทางทิศนี้ เพื่อบูชา พระมหากัสสปะเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้ทรง
ธุดงค์คุณ
 ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสงฆ์ทำสังคายนา เป็นการอัญเชิญและบูชาพระอังคารเทพผู้คุ้มครองสถานที่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอุโบสถอีกองค์หนึ่ง

3.  ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) เป็นลูกนิมิตที่อยู่ด้านขวาของอุโบสถ เป็นการบูชาพระสารีบุตร พระอัครสาวกฝ่ายขวา พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางปัญญา เป็นการอัญเชิญและบูชาพระพุธ เทพผู้คุ้มครองสถานที่ด้านทิศใต้ของอุโบสถ

4. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) หรือทิศด้านหลังฝั่งขวาของอุโบสถ การฝังลูกนิมิตทางด้านทิศนี้ เพื่อบูชาพระอุบาลีเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางวินัย และเป็นการอัญเชิญและบูชาพระเสาร์ ซึ่งเป็นเทพหนึ่งในนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ เทพผู้ดูแลคุ้มครองสถานที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถ

5.  ทิศตะวันตก (ทิศประจิม) เป็นลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหลังของตัวอุโบสถ เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของเงา ซึ่งเปรียบได้กับพระเถระที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยเฝ้าติดตามดูแลปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์เหมือนเงาตามตัว ดังนั้น การฝังลูกนิมิตทางทิศนี้ เพื่อเป็นการบูชา พระอานนท์เถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางพหูสูตและเป็นมหาพุทธอุปัฎฐากแด่พระพุทธเจ้า และอัญเชิญบูชาพระพฤหัสบดี เทพคุ้มครองทิศตะวันตก

6. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) การฝังลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหลังฝั่งซ้ายของอุโบสถทางด้านทิศนี้ เป็นการบูชา พระควัมปติเถระ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางลาภสักการะและรูปงาม ท่านเป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๑๐ ของโลก และเป็นสหาย ๑ ใน ๔ ของพระยสะกุลบุตรอีกทั้งเป็นบุตรของนางสุชาดาผู้ถวายข้าวมธุปายาสในวันก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และอัญเชิญบูชาพระราหู ซึ่งเป็นเทพประจำทิศนี้

7. ทิศเหนือ (ทิศอุดร) ลูกนิมิตที่ฝังทางด้านทิศนี้ถือเป็นลูกที่มีความสำคัญอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ด้านซ้าย ของตัวอุโบสถ เพื่อเป็นการบูชา พระมหาโมคคัลลานะ พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางแสดงฤทธิ์ และอัญเชิญบูชาพระศุกร์เทพคุ้มครองรักษาประจำทิศนี้

8. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) ลูกนิมิตที่ฝังอยู่ด้านหน้าฝั่งซ้ายของอุโบสถทางทิศเหนือนี้ เป็นสัญญลักษณ์แห่งความผูกพัน มีผลทางด้านจิตใจ ถือเป็นทิศสุดท้าย เพื่อเป็นการบูชา พระราหุลเถระ ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ พระอัครสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางการศึกษา และอัญเชิญบูชาพระอาทิตย์เทพผู้คุ้มครองรักษาประจำทิศ        
                  
                     เราชาวพุทธควรมีการทำบุญหรือเข้าพิธีในการฝังลูกนิมิตสักครั้งในชีวิต เพราะประเพณีในการฝังลูกนิมิตมีความเชื่อกันว่าจะได้รับอานิสงส์มากมายทั้ง 6 ประการ คือ
1. จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทุกชาติ ปราศจากอุปัททวะ (อุ-ปัด-ทะ-วะ สิ่งอัปมงคล) ทั้งหลาย
2. จะไม่เกิดในตระกูลต่ำ ไม่ยากจน  มีความอุดมสมบูรณ์
3. หากเกิดในมนุษย์โลกก็จะเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ ?หรือเกิดในตระกูลที่ดี
4. หากเกิดในเทวโลกก็จะเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช
5. จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีฐานะ มีคนให้เกียรติ ?มีผิวพรรณผ่องใส
6. จะมีอายุยืนนาน มีสุขภาพที่แข็งแรง

               นอกจากนี้ ในพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตนั้นนิยมจะใส่สมุด ดินสอ เข็ม และด้าย เป็นต้น ลงไปในหลุมที่ฝังลูกนิมิตด้วย ทั้งนี้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นนิมิตหมายแห่งความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้สร้างบุญ ซึ่งขอนำมาอรรถาธิบายโดยสังเขป ดังนี้
                   เข็ม หมายถึง ความเป็นผู้มีปัญญา สามารถรู้แจ้งแทงตลอดอย่างทะลุปรุโปร่ง
                   ด้าย หมายถึง ความเป็นผู้มีอายุยืนยาวตราบเท่าอายุขัย
                   ธูป หมายถึง พระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ที่เราทั้งหลายน้อมรำลึกถึงอยู่ ธูปจึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                   เทียน หมายถึง พระธรรมอันแสดงถึงความสว่างไสวประดุจดังประทีปส่องสว่าง ฉะนั้น เทียนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระธรรม
                    ดอกไม้ หมายถึง ความสวยงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดอกไม้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาพระสงฆ์ ซึ่งดอกไม้หลากสีสัน เมื่อนำมาใส่แจกันจัดเป็นดอกไม้จึงทำให้เกิดความสวยสดงดงาม อุปมาดังหมู่สงฆ์ที่มาจากต่างตระกูล ต่างครอบครัวเมื่อมาอยู่ร่วมกันในร่มพระพุทธศาสนาแล้วก็ก่อให้กิดความงดงามอย่างยิ่ง
                     แผ่นทอง หมายถึง ธรรมดาว่า ทองคำ เป็นคุณชาติที่สูงค่าที่นำมาปิดองค์พระ ลูกนิมิต ช่อฟ้า เป็นเครื่อง แสดงให้เห็นถึงความยกย่อง เชิดชูบูชาด้วยใจที่สูงส่ง ผลานิสงส์ย่อมอำนวยผลให้ได้ผลสำเร็จในสิ่งที่เป็น ความงามโดยประการทั้งปวง
                      สมุดแผ่นกระดาษ ดินสอ สำหรับจดบันทึกจารึกสิ่งต่าง ๆ ไว้ หมายถึง ความเป็นผู้ทรงจำดี ไม่มีหลงลืมเลือน

                        สำหรับ วัดพระธรรมกายจะมีการฝังลูกนิมิต จำนวน 108 ลูก  ในวันที่ 7  กรกฎาคม  พ.ศ.  2562  นี้    



                   วัดพระธรรมกายมีการสร้างอุโบสถหรือโบสถ์มาตั้งแต่ปี 2520 เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2525 

                      เนื่องจากทางวัดฯ  มีพระภิกษุ  อยู่จำพรรษา เป็นจำนวนมาก  เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์ ลงอุโบสถ  เพื่อประพิธีสังฆกรรม เช่นทบทวนปาฏิโมกข์  การบวชพระ 
การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น   พระภิกษุ  โดนแดดบ้าง  โดนฝนบ้าง  ทำให้พระภิกษุมาความลำบากในการประกอบพิธีกรรมของสงฆ์  ทำให้มีดำริให้ขยายพื้นที่ของอุโบสถเดิม  ให้รองรับพระภิกษุที่มาร่วมทำสังฆกรรม ได้จำนวนหลายพันรูปได้ อุโบสถพระไตรปิฎก   จึงได้เริ่มขึ้นในต้นปี 2560 

                 อุโบสถพระไตรปิฎก หลังนี้ จะเป็นที่รวมของพระไตรปิฎก 8 ฉบับ 5 ภาษา อีกทั้งยังเป็นที่กันแดดกันฝนให้สำหรับพระภิกษุสงฆ์ผู้มาทำสังฆกรรมร่วมกัน  ได้มีพิธีเปิดม่านมงคลบรมจักรพรรดิไปแล้ว ในวันที่ 22 เมษายน  ที่ผ่านมา

                   
                   อุโบสถพระไตรปิฎก หลังนี้  มีความสำคัญมาก เพราะเป็นอุโบสถที่ใช้ บวชพระสงฆ์ในการสืบอายุพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก  และเป็นที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระศาสนา   เมื่อสงฆ์มีการรวมตัวกัน  ก็เท่ากับทำให้พระศาสนามีความมั่นคง ยั่งยืนสืบไป
                   สำหรับผู้ที่ได้ทำบุญในครั้งนี้ จะมีอานิสงส์จะนับจะประมาณมิได้  อาทิเช่น จะทำให้นึกนิมิต ได้ง่าย จะเข้าถึงธรรมได้ง่าย  พระเดชพระคุณ หลวงปู่ฯ ท่านให้เอามาเป็น “นิมิต“ ให้นึกเป็นดวงใส ๆ ซึ่งใหม่ๆ อาจจะยังไม่ใส ก็ให้นึกแบบนี้ไปก่อน นอกจากนี้ยัง ทำให้เราเข้าไปเชื่อมโยงกับพระในตัวของเราได้ ดังนั้น...ไม่ควรพลาดบุญใหญ่อย่างนี้ 

                  เพราะฉะนั้นขอเชิญนักสร้างบารมีทุกท่านร่วมเป็นเจ้าของบุญผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต ณ  อุโบสถพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย ปทุมธานี ด้วยกันนะคะ   








ชนะวิกฤต​ Covid-19 ด้วยการสวดมนต์เป็นไปได้จริงหรือไม่

ชนะวิกฤต​ Covid-19   ด้วยการสวดมนต์เป็นไปได้จริงหรือไม่       ช่วงนี้คงได้ข่าวเกี่ยวกับ รมต.สำนักนายก ได้เสนอให้มหาเถรสมาคม  ถ่ายท...